กีฬาฟุตบอลเป็นกีฬาที่โด่งดังและได้รับความนิยมมากที่สุดในโลก สเน่ห์ของกีฬาฟุตบอลอยู่ที่ลูกบอลกลม ๆ ที่จะพาผลแพ้ชนะไปทางไหน บางทีฟอร์มดีน่าเอาใจช่วยแต่หมด 90 นาทีแบบทำอะไรไม่ได้ หรือดูท่าว่าจะแพ้แต่สุดท้ายพลิกเอาชนะอย่างหวุดหวิด เหล่านี้เป็นเรื่องราวที่สร้างความประทับใจให้กับผู้คนที่หลงใหลในฟุตบอล

และด้วยความที่กีฬาฟุตบอลนั้นเป็นที่นิยมมีการแข่งขันแทบจะทุกวัน จากทุกลีกทั่วโลก เหล่านักฟุตบอลที่อยู่ในลีกก็ถือเป็นนักฟุตบอลอาชีพ ที่ต้องเตรียมความพร้อมร่างกาย-จิตใจ ต้องฟิต และแสดงศักยภาพของตัวเองจนครบ 90 นาทีหรืออาจจะมากกกว่านั้น และด้วยความที่ฟุตบอลเป็นกีฬาที่จะต้องปะทะ ดังนั้นการบาดเจ็บย่อมเกิดได้บ่อยมาก ๆ

– การบาดเจ็บที่พบได้บ่อยจากการเล่นกีฬาและเคล็ดลับการป้องกันการบาดเจ็บ

ซึ่งการบาดเจ็บที่พบได้บ่อยจากการเล่นกีฬานั้นมีดังนี้

  1. การบาดเจ็บเป็นแผล ฟกช้ำจากการปะทะ
  2. การบาดเจ็บที่เกิดกับข้อต่อและกล้ามเนื้อ เช่น

– ข้อเท้าพลิก

– การฉีกขาดของเนื้อเยื่อที่ให้ความมั่นคงต่อข้อเข่า (เอ็นไขว้หน้าหรือหลังขาด เอ็นเข่าทางด้านนอก-ในขาด หรือ   การฉีกขาดของหมอนรองกระดูกในข้อเข่า

– กล้ามเนื้ออักเสบ

– ข้อหลุดหรือเคลื่อน (การหลุดของข้อไหล่จากการล้มเอาไหล่ลง หรือการหลุดของลูกสะบ้า)

– ตะคริว

  1. การหักของกระดูก จากอุบัติเหตุหรือแรงปะทะขณะแข่ง เช่น กระดูกข้อเท้าหัก กระดูกท่อนแขนหัก
  2. การบาดเจ็บที่กระทบกระเทือนต่อสมอง เช่น ล้มศีรษะฟาด

ดูจากการบาดเจ็บข้างต้นแล้ว หลายคนคงอดเสียวแทนนักฟุตบอลอาชีพไม่ได้ เพราะแต่ละอย่างดูรุนแรงมาก แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเราสามารถป้องกันอาการบาดเจ็บเหล่านั้นได้ โดยการฝึกซ้อมและเตรียมความพร้อมของร่างกายก่อนแข่งขัน ดังนั้นเคล็ดลับป้องกันการบาดเจ็บจากการเล่นกีฬา สามารถทำได้โดย

  1. มีการฝึกเพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ การที่กล้ามเนื้อแข็งแรง จะทำให้ข้อต่อต่าง ๆ ของร่างกายมีความมั่นคง
  2. ฝึกความทนทานขอกล้ามเนื้อ ให้ทนทานพอที่จะเล่นกีฬานั้น ๆ
  3. ฝึกความยืดหยุ่น มีการยืดเหยียดกล้ามเนื้อก่อนฝึกซ้อมและก่อนแข่ง เพราะถ้าร่างกายขาดความยืดหยุ่นจะเกิดแรงกระชากต่อข้อต่อ นำไปสู่การบาดเจ็บได้
  4. ฝึกความสมดุลของร่างกาย หรือที่เรียกว่าฝึกบาลานซ์

-อาการบาดเจ็บจากการเล่นฟุตบอลและการปฐมพยาบาลเบื้องต้น

แต่อย่างไรก็ตามอุบัติเหตุขณะแข่งขันหรือฝึกซ้อมนั้นเกิดได้เสมอ ดังนั้นการปฐมพยาบาลเบื้องต้นหากเกิดอาการบาดเจ็บสามารถทำได้ดังนี้

  1. ทำส่วนที่บาดเจ็บให้นิ่ง ประคบด้วยน้ำแข็งทันทีเมื่อเกิดการบาดเจ็บ มีการพันผ้ายืดหรือมีอุปกรณ์ประคองเอาไว้ และยกส่วนที่บาดเจ็บให้สูงกว่าระดับหัวใจ
  2. หากเกิดตะคริวให้ยืดกล้ามเนื้อนั้นออก และไม่ฝืนใช้งานต่อ
  3. ถ้าไม่มีแผลเปิดสามารถฉีดสเปร์เย็น แปะเทป เพื่อลดอาการปวดที่เกิดจากการเล่นกีฬาได้
  4. หากเป็นการบาดเจ็บรุนแรง เช่น กระดูกหักไม่สามารถเดินลงน้ำหนักได้ หรืออุบัติเหตุต่อสมอง ให้ทีมแพทย์ข้างสนามหรือเรียกรถพยาบาลมาดูแลต่อ เพื่อป้องกันการบาดเจ็บเพิ่มจากการปฐมพยาบาลที่ไม่ถูกต้อง